4| | | | | | | | | | | | | | | | | | | |ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์อำนาจเจริญ| | | | | | | | | | | | | | | | | | | |3


พระมงคลมิ่งเมือง
ณ พุทธอุทยาน อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ

"พระมงคลมิ่งเมือง” หรือที่มักเรียกกันโดยทั่วไปว่า "พระใหญ่”
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดอำนาจเจริญ
ประวัติความเป็นมาของพระมงคลมิ่งเมือง เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓
พระครูทัศประกาศ เจ้าอาวาสวัดมงคลมิ่งเมือง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ
(ในสมัยสร้างองค์พระยังเป็นอำเภออำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี)
ท่านมีความประสงค์ต้องการสร้างพระพุทธรูปประธานขนาดใหญ่
เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โบราณวัตถุทางพระพุทธศาสนาที่หักพัง
เช่น เศียรพระพุทธรูป ใบเสมาเก่า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ไว้ที่ใต้ฐานองค์พระ
รวมทั้ง เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)
องค์ปฐมสังฆนายก และให้เป็นที่เคารพสักการบูชาแก่ชาวอำนาจเจริญ

รูปแบบการสร้างพระมงคลมิ่งเมือง ช่างได้ไปถ่ายแบบจากพระพุทธชินราช
ซึ่งสร้างในสมัยกรุงสุโขทัย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารหลวง
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก
และได้มากำหนดให้องค์พระมีขนาดหน้าตักกว้าง ๙ เมตร (๔ วา ๒ ศอก)
สูงจากฐานหรือแท่นประทับนั่งจรดยอดพระเกตุมาลา ๑๑ เมตร ๔ เซนติเมตร
(๕ วา ๒ ศอก ๑ คืบ ๔ นิ้ว) ฐานแท่นประทับกว้าง ๕ เมตร สูง ๕ เมตร

อุปกรณ์ที่ใช้สร้างพระมงคลมิ่งเมือง ประกอบด้วย หิน กรวด ทราย ปูนซีเมนต์
เหล็กขนาด ๓-๖ หุน กระเบื้องเคลือบสีเหลือง (สีทอง) ขนาดกลักไม้ขีดไฟ
ใช้ปิดทองที่องค์พระ งบประมาณที่ใช้ในการสร้างประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท
โดยมีนายคำเม้า ภักดีปัญญา ชาวจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นช่างฝีมือควบคุมการสร้าง

สถานที่จัดสร้างตั้งอยู่กลางสันภูดานพระบาท เป็นลานหินขนานกัน ๒ ข้าง
มีเนื้อที่กว้างประมาณ ๓๖ ไร่ สภาพแวดล้อมเป็นภูเขาลูกเตี้ยๆ
ความสูงจากระดับพื้นดินประมาณ ๑๓ เมตร มีต้นไม้ขนาดใหญ่ปกคลุม
มีความสงบร่มเย็น มีสัตว์ป่าหลายชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของ ต.บุ่ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ
และติดกับทางหลวงแผ่นดินสายจังหวัดอุบลราชธานี-มุกดาหาร

ระหว่างการสร้างพระมงคลมิ่งเมือง มีผู้มีจิตศรัทธาทั้งที่เป็นพระภิกษุสงฆ์
และฆราวาส นำปัจจัยมาสมทบทุนการสร้าง รวมทั้งช่วยกันขนหิน ขนดิน
จนกระทั่งวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๐๕ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๙
ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ โดยนิมนต์พระสงฆ์จากวัดสุปัฏวนาราม วรวิหาร
อ.เมือง จ.อุบลราชธานี จำนวน ๑๐ รูป นำโดย เจ้าคุณพระธรรมบัณฑิต
ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็น พระเทพบัณฑิต ได้เมตตามาเป็นประธานในพิธี

แต่ก่อนประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ มีเหตุการณ์แปลกเกิดขึ้น
คือ มีฝนตกลงมาอย่างหนัก จนต้องเลื่อนเวลาการประกอบพิธีออกไป
แต่ฝนก็ตกลงมาแบบไม่มีท่าทีจะหยุด เจ้าคุณพระธรรมบัณฑิต
จึงสั่งให้เริ่มประกอบพิธีท่ามกลางสายฝน
ทำให้พระเณรและประชาชนที่มาร่วมพิธีเปียกปอนไปตามๆ กัน

ในการก่อสร้างพระมงคลมิ่งเมืองครั้งนี้ ก็มีอุปสรรคเกิดขึ้น
เพราะทุนทรัพย์ใช้ก่อสร้างมีผู้บริจาคเพียง ๒๖,๗๒๑.๐๕ บาท

กระทั่งเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๕
พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ อธิบดีกรมการศาสนา ในขณะนั้น
พร้อมด้วย พ.อ.พรชัย วิชาวรณ์ ได้มาสำรวจการก่อสร้าง
พระครูโอภาสธรรมภาณ เจ้าคณะอำเภอฝ่ายธรรมยุต ในขณะนั้น
ได้เสนอให้ท่านทั้ง ๒ เป็นผู้อุปถัมภ์การก่อสร้างองค์พระสืบต่อไป

พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ ได้นำเรื่องการก่อสร้าง "พระมงคลมิ่งเมือง”
มารายงานให้ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร
ขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับทราบ
พล.อ.ประภาส จึงได้บริจาคทรัพย์ส่วนตัวสมทบการสร้าง ๑๐๐,๐๐๐ บาท
และผู้มีจิตศรัทธาในกลุ่มของ พล.อ.ประภาส ร่วมบริจาคสมทบให้อีก
๑๐๐,๐๐๐ บาท การก่อสร้าง "พระมงคลมิ่งเมือง” จึงได้เริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับการก่อสร้างครั้งใหม่ มีการขยายแท่นองค์พระออกไปทั้ง ๔ ด้าน
ด้านละ ๑-๕ เมตร โดยขยายแท่นพระซึ่งมีความยาวเดิม ๙ เมตร กว้าง ๕ เมตร
เป็น ๑๒ เมตร กว้าง ๘ เมตร สูง ๕ เมตร สูงจากพื้นดินถึงพระเกตุมาลา ๒๐.๕๐ เมตร
ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๐ เมตร องค์พระพุทธรูปหันพระพักตร์สู่ทิศบูรพา
ปิดด้วยกระเบื้องโมเสกทองเหลืองอร่าม โดยองค์พระแม้มีขนาดใหญ่ แต่สวยงามยิ่ง
ทำให้ผู้มีจิตศรัทธาบางคนนิยมเรียกท่านว่า "พระเจ้าใหญ่มงคลมิ่งเมือง”
ใช้งบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น ๓๓๒,๘๐๐ บาท สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๐๘

ปัจจุบัน พระมงคลมิ่งเมืองเป็นพระศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง
เป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาวจังหวัดอำนาจเจริญ
หากสาธุชนท่านใดได้มาเยือนแล้วไม่ได้ไปกราบนมัสการ
ถือเสมือนว่ายังเดินทางมาไม่ถึงจังหวัดอำนาจเจริญ

การกราบขอพรจากองค์พระมงคลมิ่งเมือง
ส่วนมากนิยมขอพรให้คลายความทุกข์โศกร้อนใจ
และบนบานให้ประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆ

ทั้งนี้ ทุกวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชาของทุกปี
ชาวอำนาจเจริญจะพร้อมใจจัดงานกราบนมัสการเป็นเวลา ๕ วัน ๕ คืน
ดังนั้น ผู้คนที่เคยเดินทางมากราบไหว้ขอพรหรือบนบานไว้
จะพากันเดินทางมากราบนมัสการและแก้บนในช่วงวันดังกล่าวจำนวนมาก

การกราบไหว้บูชา "พระมงคลมิ่งเมือง” หรือ "พระใหญ่”
เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลแก่ตัวและครอบครัว เป็นมงคลชีวิตดีนักแ
พุทธอุทยาน และ พระมงคลมิ่งเมือง ตั้งอยู่ที่เขาด้านพระบาทห่างจากตัวเมืองไปทางด้านเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร บริเวณวัดประกอบด้วย หินด้านธรรมชาติร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด ซึ่งได้รับการปรับแต่งให้เป็น พุทธอุทยาน สวนพระมงคลมิ่งเมือง หรือพระให้ ป่างมารวิชัย องค์พระหน้าตักกว้าง 11 เมตร ความสูงจากระดับพื้นดินถึงยอดเปลวรัศมี 20เมตรเป็นพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลสกุลศิลปอินเดียเหนือ (ป่าละ) ที่แผ่อิทธิพลมายังภาคอีสานของไทย เมื่อพันปีเศษออกแบบโดยจิตรบัวบุศย์

โดยการก่อสร้างแบบคอนกรีตเสริมเหล็กครอบพระองค์เดิมซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นมีฐานกว้าง 8.4 เมตร ยาว 12.6 เมตร สูง 5.2 เมตร แล้วแต่งองค์พระด้านนอกด้วยกระเบื้องโมเสคสีทองสร้างเมื่อปี พ.ศ.2508 เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของ
ชาวจังหวัดอํานาจเจริญและจังหวัดอุบลราชธานี

พระมงคลมิ่งเมือง เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามประจําภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางด้านหลังของพระมงคลมิ่งเมืองมีพระพุทธรูปลักษณะแปลกอีก 2 องค์ ห่มจีวรเหลืองลออตา มีนามว่า พระละฮาย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า พระขี่ลาย หมายถึง ไม้สวย ไม้งาม โดยเรียกตามรูปลักษณ์ขององค์พระพุทธรูปโบราณ พบในหนองน้ำเมื่อปี พ.ศ. 2505 ครั้งที่มีการปรับปรุงบริเวณโดยรอบเพื่อทําฝายกั้นน้ำ ถือกันว่าเป็นพระที่ให้โชคลาภ ชาวบ้านมักมาบนบานขอพรอยู่เสมอ

FONTSIZE
Responsive image
งบทดลอง

Copyright © 2022 สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์อำนาจเจริญ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ ตำบลโนนหนามแท่ง อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ 37000
โทร : 045-523046 | Fax : 045-523046 | E-mail : [email protected] | Website : https://amnatcharoen.cad.go.th/ | Facebook : สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์อำนาจเจริญ

--------------------------------------------------

นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัย | นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | การปฏิเสธความรับผิด

สงวนลิขสิทธิ์ © 2566 สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์อำนาจเจริญ
การแสดงผลหน้าเว็บไซต์จะสมบูรณ์ที่สุดสำหรับ Google Chrome และ Internet Explorer ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 650 pixel